Thursday, January 18, 2007

เครื่องเขย่าผสมเลือดของผู้บริจาคโลหิต

อรรถสิทธิ์ อุดมวิเศษ

การ ให้บริการของงานคลังเลือด เป็นการให้บริการด้านการรับบริจาคโลหิต ตรวจเลือดเก็บรักษาเลือด ทดสอบเลือดก่อนนำไปให้กับผู้ป่วย การรับบริจาคโลหิตในแต่ละถุงนั้นเพื่อให้ได้เลือดที่มีคุณภาพที่ดีสำหรับ ผู้ป่วย จะต้องควบคุมปริมาตรโลหิตให้ได้ปริมาตรที่พอเหมาะกับน้ำยากันเลือดแข็ง (anti coagulant) ที่มีอยู่ในถุงเลือดและต้องเขย่าผสมเลือดให้เข้ากันกับน้ำยากันเลือดแข็ง ให้ดีในระหว่างการรับบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการเกิดก้อนเลือด (fibrin blood clot) ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการนำไปให้กับผู้ป่วย หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเลือดได้เนื่องจากเสียเลือดมากเกินไป (acute blood lose) เมื่อนำเลือดที่ได้ปริมาตรพอดีกับน้ำยากันเลือดแข็งและได้รับการผสมน้ำยา ให้เข้ากันดีไปปั่นแยกส่วนประกอบของเลือด (blood component) ก็จะได้ส่วนประกอบของเลือดที่มีคุณภาพ และช่วยให้เลือดมีความคงสภาพอยู่ได้นานยิ่งขึ้นด้วย

ปัจจุบันการให้ บริการด้านรับบริจาคโลหิต ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลปริมาตรเลือด และเขย่าผสมเลือดให้เข้ากับน้ำยาในระหว่างรับบริจาคโลหิตได้ตลอดเวลา เครื่องเขย่าเลือดต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศมีราคาแพง เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ไฟฟ้า มีน้ำหนักมาก จึงไม่เหมาะที่จะนำออกหน่วยรับบริจาคนอกสถานที่ จึงได้ประดิษฐ์เครื่องเขย่าผสมเลือดของผู้บริจาคโลหิตขึ้นมา จากวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก กลไกง่าย ไม่ใช่ไฟฟ้า น้ำหนักเบา

วิธีการศึกษา
- การโยกเอียงไปมาของคาน ทำให้เกิดการไหลของน้ำยากันเลือดแข็ง และเลือดไหลเข้าผสมกันได้ การทำงานของเครื่อง เมื่อผู้บริจาคโลหิตกำที่กำมือ แรงกำจะทำให้สายดึงซึ่งเชื่อมเข้ากับคันโยกของเครื่อง ทำให้คานโยกไปมาได้ตามจังหวะการกำมือของผู้บริจาคโลหิต ทำให้เลือดกับน้ำยาสามารถไหลผสมเข้ากันได้ตลอดเวลาของการบริจาคโลหิต และเมื่อเลือดเต็มถุงพอดีแล้วเครื่องจะมีเสียงสัญญาณเตือน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาถอดเข็มและตัดสายถุงเลือด

ผลการศึกษา
- เลือดของผู้บริจาคโลหิตผสมเข้ากันได้ดีกับน้ำยากันเลือดแข็ง ปริมาตรเลือดที่ได้ในแต่ละถุงมีปริมาตรที่พอเหมาะกับน้ำยาไม่มากหรือน้อย เกินไป ทำให้ผู้บริจาคได้รับความพึงพอใจ ปลอดภัยยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับความสะดวกในการปฏิบัติงาน ผู้ป่วยได้รับเลือดที่มีคุณภาพมากขึ้น ประหยัดไฟฟ้า

วิจารณ์และสรุป
- เครื่องมือนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริจาคโลหิต โดยต้องอธิบายการกำมือเพื่อให้เครื่องทำงานได้ดีขึ้น


จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

No comments: