Thursday, January 25, 2007

รายงานการศึกษาระบาดวิทยาของผู้ทำร้ายตนเอง พ.ศ. 2547

อภิชัย มงคล, ทวี ตั้งเสรี
กรมสุขภาพจิต

-เพื่อ ศึกษาถึงสภาวการณ์ด้านกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ เหตุผลของการมีชีวิต การวางแผน การดำเนินชีวิตของผู้ทำร้ายตนเอง และปัจจัยเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยมีความคิดจะทำร้ายตนเองซ้ำ

- จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วย จำนวน 718 ราย พบว่า ผู้ทำร้ายตนเอง เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 20-29 ปี สภาวการณ์ปัญหาด้านร่างกายจิตใจ สังคม การติดสารเสพติดและเศรษฐกิจพบปัญหาที่ประเมินว่า ควรได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 3 อันดับแรก ได้แก่ การทำงานและรายได้ (ร้อยละ 24 ถึง 32) สุขภาพจิต (ร้อยละ 14 ถึง 19) และสุขภาพกาย (ร้อยละ 15 ถึง 17)

- วิธีการทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ใช้การกินยาเกินขนาด (ร้อยละ 45) รองลงมาคือการกินสารเคมี (ร้อยละ 40) สาเหตุจากปัญหาขัดแย้งกับคนใกล้ชิด (ร้อยละ 45- 49) โดยไม่มีการส่งสัญญาณให้รู้ล่วงหน้า (ร้อยละ 48) เมื่อประเมินเหตุผลของผู้ป่วยที่ต้องการมีชีวิตอยู่และการที่คนเราไม่ทำ ร้ายตนเอง พบว่า กลุ่มเหตุผลที่ตอบมากที่สุดอันดับแรก เป็นเรื่องการเป็นห่วงคนในครอบครัว ไม่อยากให้เขาเสียใจ (ร้อยละ 86 ถึง 96)

- พยากรณ์ความคิดทำร้ายตนเองซ้ำในเพศหญิงและเพศชาย โดยใช้สมการถดถอยโลจิสติก พบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการมีความคิดทำร้ายตนเองซ้ำในเพศหญิงได้แก่ การมีอาการซึมเศร้า (4.8 เท่าของผู้ไม่มีอาการซึมเศร้า) การทีอาการทางจิต (4.38 เท่าของผู้ที่ไม่มีอาการทางจิต) สำหรับปัจจัยเสี่ยงในเพศชาย ได้แก่ การมีอาการโรคจิต (7.42 เท่าของผู้ที่ไม่มี่อาการ) ความคาดหวังในการทำร้ายตนเองให้ตาย (5.37 เท่าของผู้ที่ไม่มีความหวัง) และพบว่า คะแนนเหตุผลของการมีชีวิตอยู่เป็นปัจจัยปกป้องต่อการมีความคิดทำร้ายตนเอง ซ้ำทั้งในหญิงและชาย

จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

No comments: