Monday, December 18, 2006

โครงการรักษาใจยามป่วยไข้; การดูแลองค์รวมวิถีพุทธ (Spiritual Care : The Buddha Holistic Approach) โรงพยาบาลสรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี

พัชนี ทองประเสริฐ, ชมพู ขาววงศ์, พัชรากร มิ่งไชย, สุภาพร คำบุญสา, นลินทิพย์ แสวงศิลป์, อดิณา ศรีสมบูรณ์, เพ็ญจันทร์ เตมีย์ และคณะ

โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์

ความสำคัญ
- ในสภาวะที่เจ็บป่วยเรื้อรัง บุคคลมักกลัวตาย เครียด วิตกกังวล ส่งผลให้สภาพจิตใจอ่อนแอ ท้อแท้ เกิดความทุกข์ทรมาน บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย/ญาติ จำเป็นต้องมีผู้ที่เข้าใจให้กำลังใจ และเวลาในการทำใจ ร่วมกับการนำวิธีการที่สอดคล้องกับความเชื่อ ศรัทธา วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมในชุมชนของผู้ป่วยมาเป็นแนวทางในการดูแลด้านจิตใจ/จิตวิญญาณ เนื่องจากผู้ป่วยร้อยละ 99.9 ที่รับการรักษาในหอผู้ป่วยนับถือพุทธศาสนา ทีมจึงได้นำแนวทางและวิธีการทางพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการดูแลด้านจิตใ จ/ จิตวิญญาณ ทำการศึกษาระหว่างมิถุนายน 2548- พฤษภาคม 2549

กลุ่มเป้าหมาย
- คือ ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความเครียด วิตกกังวลสูง ร่วมกับมีอาการรบกวนจำนวน 66 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 22 ราย มะเร็งปากมดลูกไม่ลุกลาม 15 ราย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 29 ราย

วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้ป่วยลดหรือผ่อนคลายความวิตกกังวล มีกำลังใจให้ความร่วมมือ สามารถอยู่กับโรคหรือสภาวะที่เผชิญอยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควร

วิธีการศึกษา
- พยาบาลวิชาชีพทุกคนเข้ารับการฝึกอบรมให้การปรึกษา และเจ้าหน้าที่ทุกระดับฝึกปฏิบัติการพัฒนาจิต จัดมุมสบายใจในหอผู้ป่วย ค้นหาปัญหา ให้การปรึกษา ร่วมสวดมนต์กับผู้ป่วยเช้าเย็น แนะนำวิธีการฝึกหายใจ ฟังเทปธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ แจกบทสวดมนต์ให้กับผู้ป่วยขณะอยู่ในโรงพยาบาล และกลับไปบ้าน

แก้ข้อมูล เชิงคุณภาพ
- โดยให้ผู้ป่วยบันทึกความรู้สึก ความคิดเห็น อาการรวบกวนก่อนและหลังทำกิจกรรม เช่น การนอนหลับ ความปวด การยอมรับ ความกลัว ความวิตกกังวลและกำลังใจ ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก และความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการศึกษา
- พบว่ากลุ่มเป้าหมาย มีระดับการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาถึงปริญญาโท อายุ 16-81 ปี ทั้งหมด เพศหญิง นับถือศาสนาพุทธ เคยสวดมนต์ ฟังธรรมเทศนา ส่วนน้อยเคยนั่งสมาธิ อาชีพแม่บ้าน ข้าราชการ และอาจารย์ ภายหลังให้การปรึกษาและทำกิจกรรม พบว่าผู้ป่วยทั้งหมด (100
%) พอใจในกิจกรรมมาก อารมณ์สงบ ผ่อนคลาย สบายใจขึ้น ไม่ทุกข์มากและไม่ฟุ้งซ่าน มีความสุขมากขึ้น วิตกกังวลน้อยลง นอนหลับสบายขึ้นจากที่ไม่ได้นอนหรือนอนไม่ค่อยหลับมาหลายวันบางครั้งลืมความเจ็บปวด ขณะที่ก่อนหน้านั้นทั้งฉีดและกินยาแก้ปวด

สรุป
- พุทธศาสนา เป็นความศรัทธา ความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน การดูแลรักษานอกจากด้านร่างกายแล้ว จิตใจควรได้รับการส่งเสริมโดยไม่บั่นทอนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วย และครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

จาก ผลงานวิชาการนำเสนอ ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

ประจำปี 2549 วันที่ 4-6 กันยายน 2549

ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร

No comments: