Saturday, November 18, 2006

นวัตกรรมชุดดูดเสมหะไร้มอเตอร์เวอร์ชั่น 3

ทองพูล น้อยเมล์

กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น

บทนำและวัตถุประสงค์
- ผู้ป่วยหลายประเภทที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ในอิริยาบถต่างๆ แม้กระทั่งการขับสารเหลวต่างๆจากร่ายกาย เช่ย ผู้ป่วยที่อัมพฤกษ์, อัมพาต เด็กที่มีความพิการทางสมองในโรคต่างๆ หรือมีความพิการมาแต่กำเนิดที่นอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งหลายคนมีความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์ หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ คือ เครื่องดูดเสมหะ แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำหน่ายทั่วไปเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีราคาแพงเกินไป บางครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถซื้อหาได้ และในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 โรงพยาบาลขอนแก่น โดยผู้ช่วยทันตแพทย์ในกลุ่มงานทันตกรรม ได้ประดิษฐ์ชุดดูดเสมหะไร้มอเตอร์ในเวอร์ชั่น 1 และ 2 โดยใช้พลังงานการดูดจากระบบ SUCTION ที่ยูนิตทำฟัน ปรากฏว่าใช้งานได้เป็นอย่างดี ได้นำไปเผยแพร่ในการประชุมวิชาการต่างๆ เป็นที่สนใจและได้รับคำชื่นชมเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญของโรงพยาบาลขอนแก่น การศึกษาครั้งนี้ ได้พัฒนาต่อเนื่องจากเดิมซึ่งได้ตั้งชื่อนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า “ชุดดูดเสมหะ ไร้มอเตอร์เวอร์ชั่น 3” เพื่อนำไปดูดเสมหะในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น

วิธีการศึกษา
- เมื่ออุปกรณ์ดูดเสมหะไร้มอเตอร์ในเวอร์ชั่น 1 และ 2 มีการใช้งานได้ดี เป็นที่พอใจของบุคลากร แต่มีขีดจำกัดการใช้งานอยู่ในเฉพาะกลุ่มงานทันตกรรมเพราะใช้พลังงานที่ระบบ SUCTION ของยูนิตทำฟัน แต่ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่นอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ผู้ศึกษาได้ค้นพบพลังงานการดูดที่อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป คือ เครื่องดูดฝุ่น จึงเกิดความคิดพัฒนาประดิษฐ์ชุดดูดเสมหะไร้มอเตอร์เวอร์ชั่น 3 เพื่อเชื่อมต่อกับเครื่องดูดฝุ่น แล้วนำอุปกรณ์ชุดนี้มาใช้ดูดสารเหลวทดลองมีความเข้มข้นคล้ายเสมหะ เลือด น้ำลาย มีแรงดุดไม่แตกต่างจากเครื่องดูดเสมหะทั่วไป

ผลการศึกษา
- ชุดดูดเสมหะไร้มอเตอร์เวอร์ชั่น 3 สามารถดูดเสมหะ, เลือด , น้ำลาย และสารเหลวต่างๆ ของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี หลักการและเทคนิคการใช้งานของอุปกรณ์นี้มีความสะดวก ประกอบง่าย และที่สำคัญลดค่าใช้จ่าย หาง่าย เพราะอุปกรณ์ที่สำคัญมีขายตามท้องตลาด นอกจากใช้ดูดฝุ่นได้แล้ว เมื่อนำเอาชุดดูดเสมหะไร้มอเตอร์ เวอร์ชั่น 3 มาต่อก็จะกลายเป็นเครื่องดูดเสมหะทันที การใช้งานจะใช้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย




จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

No comments: