Thursday, October 26, 2006

การประเมินโครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) ปี พ.ศ. 2548


สมคิด เพชรชาตรี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา

การรณรงค์ ให้วัคซีนโปลิโอ เป็นมาตรการหลัก 1 ใน 4 มาตรการ เพื่อกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไป การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ที่จะประเมิน อัตราการได้รับวัคซีนโปลิโอในพื้นที่ไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) ในช่วงรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยใช้วิธีให้สถานบริการประเมินตนเองหลังการรณรงค์ฯ การหยอดวัคซีนโปลิโอแต่ละครั้ง ซึ่งไม่สามารถประเมินโดยวิธีทั่วไปได้ โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเก็บข้อมูล จากการสอบถามผู้มารับบริการทุกรายที่มาสถานบริการ ในเรื่องการได้รับวัคซีนโปลิโอ ช่วงการรณรงค์ฯ โดยถามผู้ปกครองหาก มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อาศัยอยู่ร่วมบ้าน

วิธีการเก็บข้อมูล
- ใช้แบบสอบถามจำนวน 100 ชุด/ สถานบริการ ใน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม 2548 (หลังการรณรงค์ฯ วันที่ 14 ธันวาคม 2548) ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2549 (หลังการรณรงค์ฯ วันที่ 14 ธันวาคม 2549) ในกรณีที่เก็บข้อมูลได้ครบก่อนช่วงเวลาดังกล่าวสามารถหยุดเก็บข้อมูลได้ ในกรณีที่เก็บข้อมูลครบตามช่วงเวลาดังกล่าว แต่ได้ไม่ถึง 100 ชุด/สถานบริการ สามารถหยุดเก็บข้อมูลได้และได้นำผลที่ได้เปรียบเทียบกับรายงานในระบบปกติ

ผลการศึกษา
- พบว่า แบบสอบถามที่ได้รับการตอบกลับเพียงร้อยละ 41.00 ผู้ปกครองตอบว่า มีเด็กในการดูแล ได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ร้อยละ 98.96 และ 99.42 ตามลำดับ หากจำแนกเป็นสถานที่หยอดวัคซีนให้แก่เด็ก สูงสุดร้อยละ 44.37 ได้รับการหยอดที่บ้านและต่ำสุดร้อยละ 0.54 ได้รับการหยอดที่โรงพยาบาลทั่วไป และเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานในระบบปกติ พบว่า จังหวัดนราธิวาสยังมีพื้นที่เสี่ยง ที่ไม่สามารถดำเนินการหยอดได้ครอบคลุม ทำให้ผลการหยอดวัคซีนโปลิโอต่ำกว่าร้อยละ 90

สรุป
- การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอในพื้นที่ไม่ปกติ การดำเนินงานจำเป็นต้องใช้กลวิธีประชาสัมพันธ์เชิงรุก แนวร่วมที่สามารถช่วยดำเนินการได้เป็น อาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการในพื้นที่ ทำให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ยังผลในการกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดสิ้นไป



จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร


No comments: