Wednesday, October 18, 2006

สถานะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดชัยภูมิ ปี 2549

จันทกานต์ วลัยเสถียร, ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา

บทนำและวัตถุประสงค์
- ปัญหาสุขภาพจิตแม้จะไม่ทำให้เสียชีวิตมากเมื่อเทียบกับโรคทางกายอื่นๆ แต่เป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญแบะมีแนวโน้มอันดับหนึ่งในอนาคต ทว่าปัญหานี้ได้รับการดูแลน้อยมากโดยเฉพาะในวัยรุ่น ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มปัญหาความเครียดและความวิตกกังวลมากขึ้นตลอดจนปัญหาสุขภาพจิตเป็นสาเหตุพื้นฐานของจิตลักษณะที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาสถานะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องขึ้น

วิธีการศึกษา
- ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง 389 คน ได้มาจากการสุ่มเลือกโรงเรียนในเขตอำเภอเมือง 2 แห่ง และต่างอำเภอ 2 แห่ง เสร็จแล้วสุ่มเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของแต่ละโรงเรียนมาจำนวนเท่าๆกันดดยการสุ่มแบบมีระบบจากเลขประจำตัวของนักเรียนทั้งชั้น เครื่องมือที่ใช้คือ ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตของคนไทยของกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ และสถิติเชิงอนุมานได้แก่ Chi-square test


ผลการศึกษา
- พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 58.1 เพศหญิงร้อยละ 41.9 และอยู่ในช่วงอายุ 13 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 77.4 ส่วนมากร้อยละ 84.1 พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ผลการเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 47.5 สัมพันธภาพในครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ในระดับปกติร้อยละ 74.8 เรื่องที่นักเรียนไม่สบายใจมากที่สุด คือ เรื่องการเรียนพบร้อยละ 60.6 และบุคคลที่นักเรียนปรึกษามากที่สุดเมื่อมีปัญหา คือ ผู้ปกครองร้อยละ 61.5 นักเรียนมีสุขภาพจิตต่ำกว่าปกติถึงร้อยละ 30.3 โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับผลการเรียน สัมพันธภาพในครอบครัว และผู้ที่เด็กได้รับคำปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05

วิจารณ์และสรุป
- พบขนาดปัญหาสุขภาพจิตถึงร้อยละ 30 โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 10-13 ปี ซึ่งเป็นระยะวัยรุ่นตอนต้นซึ่งต้องปรับตัวทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาและการเรียน ครูและผู้ปกครองต้องให้ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดโดยอาจใช้ ผลการเรียน สัมพันธภาพในครอบครัวเด็กและการขอรับการปรึกษาเป็นตัวเฝ้าระวัง เพราะการวัดสถานะสุขภาพจิตอาจไม่ไวพอที่จะเฝ้าระวังปัญหาและต้องทำโดยผู้มีความเชี่ยวชาญซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับโรงเรียน การแก้ไขปัญหาต้องคิดให้ครบวงจร คือ ต้องทำให้ภายในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน โรงเรียนต้องมีระบบให้คำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ตลอดจนสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญให้ครูและชุมชนควรมีการเฝ้าระวังปัญหาอย่างใกล้ชิดด้วย

จากผลงานวิชาการนำเสนอ ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข
ประจำปี ๒๕๔๙ วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙
ณ โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

No comments: